พิธีไหว้ครู
การประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ของล้านนานั้น ผู้ประกอบพิธีจะต้องมีเครื่องบูชาครู ซึ่งเรียกกันว่า “ขั้นตั้ง” เช่น ก่อนจะปลูกบ้านเจ้าของบ้านจะแต่งดาขันครูให้กับหัวหน้าช่างเรียกว่า “ขันตั้งสล่า” เมื่อมีการตายเกิดขึ้นจะมีชาวบ้านมาช่วยกันทำเรือนศพ เจ้าภาพจะแต่งดาขันครูให้กับหัวหน้าทำเรือนศพ เรียกว่า “ขันตั้งทำไม้ศพ” แม้แต่ในวัดจะสร้างอุโบสถ วิหาร ศาลา ก็มีการแต่งเครื่องขันตั้งให้กับหัวหน้าช่าง เมื่อจะมีงานมหรสพเช่น ซอ ลิเก เป็นต้น ทางเจ้าภาพจะต้องแต่งเครื่องขันตั้งให้กับช่างซอ เพราะเชื่อสืบต่อกันมาว่า ช่าง ศิลปินต่าง ๆ ล้วนมีครูผู้สอนทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อลูกศิษย์จะกระทำสิ่งใดที่ต้องใช้วิชาที่ร่ำเรียนมา ให้คิดถึงบุญคุณของครูบาอาจารย์เสมอ และยังเชื่อต่อกันอีกว่า ถ้าไม่บูชาครูก่อนแล้วกระทำงานใด ๆ อาจจะมีอุปสรรค มีสิ่งขัดขวาง และอาจจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับตัวเองและลูกน้อง
ด้วยเหตุที่ทำสิ่งใดต้องบอกกล่าวให้ครูบาอาจารย์ อาราธนาครูบาอาจารย์มาช่วยเหลือในกิจการนั้นๆ ให้สำเร็จเป็นที่เรียบร้อย ดังนั้นเมื่อครบรอบ 1 ปีจึงมีการทำพิธีไหว้ครู
เริ่มต้นจากครูคนแรกจะเป็นผู้ไหว้ครู ถ้าเป็นครูที่มีลูกศิษย์มากจะมีพิธีไหว้ครูที่ใหญ่โต โดยมีลูกศิษย์มาช่วยงาน บางงานจะมีมหรสพมาแสดง ที่นิยมกันสมัยก่อนคือการขับซอ บางงานจะมีวงปี่พาทย์มาบรรเลง ถ้าเป็นศิลปินใหม่ที่ยังไม่มีลูกศิษย์มากจะแต่งเครื่องไหว้ครูและทำพิธีแบบง่ายๆ
อุปกรณ์และอาหารสำหรับการไหว้ครู ในแต่ละท้องถิ่นอาจจะไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นการไหว้ครูสำหรับศิลปินใหม่ที่ยังไม่โด่งดัง จะแต่งดาเครื่องไหว้ครูอย่างย่อๆ มีกรวยใส่ดอกไม้ธูปเทียนจำนวน 8 กรวย กรวยใส่หมากพลูจำนวน 8 กรวย มีไข่ไก่ปิ้งไฟเพื่อแทนไก่ต้ม มีเหล้าสุรา 1 ขวด เอาของทุกอย่างใส่ในขันสลุง หรือกาละมัง จากนั้นนำไปที่ห้องโถงเรียกกันว่า “เติ๋น” ยกขันไหว้ครูขึ้นกล่าวคำไหว้ครูแล้วจึงนำไปตั้งบนหิ้งครู เป็นเสร็จพิธี ส่วนการไหว้ครูขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันจะหาดูได้จากการไหว้ครูของคนทรงเจ้าที่ยังใช้วิธีการไหว้ครูแบบโบราณอยู่ จะแต่งเครื่องไหว้ประกอบด้วยขันใส่กรวยดอกไม้ธูปเทียน กรวยใส่หมากพลู อย่างละ 108 ชุด น้ำส้มป่อย หัวหมูต้ม เป็ดต้ม ไก่ต้ม ปลาต้ม เหล้าสุรา กล้วยน้ำว้า ขนมต่างๆ ผลไม้ตามฤดูกาล เมื่อได้เวลาเจ้าภาพจะยกเครื่องไหว้ครูขึ้นระดับหน้าผาก พร้อมกับอัญเชิญครูทุกครู ทั้งครูเค้า ครูปลาย ครูที่ตายไปแล้วก็ดี ครูที่ยังมีชวิตอยู่ก็ดี ขอให้มารับเครื่องไหว้เหล่านี้ เมื่อมารับแล้วขอเชิญให้มาปกปักรักษาลูกศิษย์ทั้งหลายให้อยู่เย็นเป็นสุข กระทำการใดๆ ให้มีเตชะอานุภาพ แล้วยกเครื่องสักการบูชาขึ้นตั้งบนหิ้งครู จากนั้นลูกศิษย์ที่มาร่วมงานทุกคนจุดธูปเทียนบูชาครูเพื่อขอพร แล้วรอจนธูปที่บูชาดับหมด อาจารย์ที่เป็นประธานจะให้นำหมู เป็ดไก่ อาหารทุกอย่างเข้าโรงครัวเพื่อปรุงอาหารเลี้ยงทุกคน ถ้ามีมหรสพก็จะชมมหรสพจนถึงเย็น เป็นอันเสร็จพิธีไหว้ครู
ผู้เขียน นายศรีเลา เกษพรหม
http://www.sri.cmu.ac.th/elanna/elanna47/public_html/home/home.htm
วันศุกร์, พฤษภาคม 01, 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น