
"ไหว้สาปาระมี ประเพณีขึ้นธาตุดอยสุเทพ"
ค่ำคืนของวันขึ้น ๑๔ ฅ่ำ เดือน ๙ เหนือ (พ.ศ.๒๕๔๗)
หลายชีวิตคลาคล่ำบนถนนห้วยแก้ว เส้นทางที่มุ่งหน้าขึ้นสู่ดอยสุเทพ ด้วยวันนี้ เป็นวันที่ผู้คนจะเดินขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ ของงานไหว้สาปาเวณีพระธาตุดอยสุเทพ รถราต่างก็มาจอดไว้อยู่แถวหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากนั้นก็เดินสองเท้าท่องเทียวตามเส้นทางที่ ครูบาศรีวิชัย ได้บุกเบิกสร้างขึ้น ผมและเพื่อนที่จะร่วมเดินทางขึ้นไปในคืนนี้ นัดกันไว้ว่า จะขึ้นไปประมาณ ๓ ทุ่ม เมื่อทุกคนมาพร้อมเพรียงเรียงหน้ากันครบแล้ว ต่างก็เดินทางเพื่อมุ่งสู่พระธาตุดอยสุเทพ ที่มองจากถนนห้วยแก้ว เห็นเป็นเพียงกลุ่มแสงไฟที่เรืองรองอยู่บนยอดดอย จากหน้าครูบา ผู้คนต่างยัดเยียดเบียดเสียดกันแน่นขนัด ไม่มีที่ทางให้ขึ้นไปไหว้สาครูบาได้เลย ก็เลยต้องยกมือสานอมไหว้อยู่ไกล ๆ แล้วก็ลัดเลาะไปตามทาง ที่มีแสงไฟสีขาวนวลส่องนำทางเป็นระยะ ๆ เพื่อนร่วมเดินทางในงานบุญงานกุศลเช่นนี้ นอกจากกลุ่มผมแล้ว ยังมีอีกมากมาย บ้างก็มาเป็นกลุ่ม บ้างก็มาเป็นคู่ ส่งเสียงพูดคุยกันไปอย่างสนุกสนาน เดี๋ยวโค้งซ้าย บัดเดียวโค้งขวา ผู้คนล้วนหลั่งไหลกันขึ้นดอย ภาพเพื่อนฝูงพากันเกาะเกี่ยวกันขึ้นไป พี่พาน้อง ลุงพาหลาน ต่างก็ทำให้อบอุ่นใจและมีแรงในการมุ่งมั่นเพื่อให้ขึ้นไปถึงยังยอดดอย ยิ่งดึกผู้คนยิ่งมากกลุ่มแล้วกลุ่มเล่าที่แซงขึ้น แล้วก็บางกลุ่มนั่งพักเหนื่อยกันที่ราวกันชนข้างทาง แซงบ้าง ถูกแซงบ้าง ตามแต่ว่าแรงใครจะดีกว่ากัน บางช่วงมีแม่ค้าพ่อขาย ตั้งโต๊ะเรียงราย ผัดไทย น้ำ กาแฟ ขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ มีให้เห็นเป็นระยะ ๆ สองเท้าเก้าเดิน ลัดเลาะไต่ตามถนน บางช่วงก็เป็นซุ้มพักยั้งขบวน ก็มีชาวบ้านจากหลายอำเภอ มารอรับขบวนบุษบกอัญเชิญน้ำสรงพระราชทาน และ ขบวนช้างเผือก เพื่อส่งต่อไปเป็นระยะ ๆ จากบริเวณหน้าครูบาเป็นต้นไป บางซุ้มก็มีพระสงฆ์มาอวยพร พรมน้ำมนต์ให้กับผู้ศรัทธาทั้งหลาย ให้อิ่มบุญอิ่มใจ มีเรี่ยวมีแรงที่จะก้าวย่างต่อไป กลุ่มของผมมาทันขบวนก่อนถึงวัดผาลาด บุษบกที่ประดับประดาตกแต่งสวยงาม พร้อมกับน้ำสรงพระราชทานอยู่ในมณฑปอีกทีหนึ่ง หลังจากบุษบกแล้วก็เป็นรูปของช้างเผือก ที่จำลองมาจากครั้งแรกเริ่มสร้างวัดพระธาตุ ในสมัยพระเจ้ากือนา แห่งนครพิงค์เชียงใหม่ เมื่อได้รับพระบรมสารีริกธาตุ ก็ตรินึกถึงที่อันสมควร จึงใช้วิถีเสี่ยงทาย โดยนำพระบรมสาริกธาตุผูกติดไว้กับหลังช้างเผือก แล้วก็ปล่อยไป ช้างเผือกก็เดินขึ้นไปยัง “ดอยอ้อยช้าง” ซึ่งต่อมาก็คือดอยสุเทพ ด้วยนามแห่งเจ้ารสี(ฤๅษี)วาสุเทพ พอไปถึงบริเวณองค์พระธาตุ ก็หยุดอยู่ที่นั้น ไม่ไปไหนอีกเลย.. . ก็เลยนำพระธาตุฝังดินแล้วก่อเจดีย์ครอบไว้ ตั้งแต่นั้นมา จึงเป็นที่ไหว้ที่สาแก่ผู้คนตลอดมา กว่าจะเดินแซงขบวนได้ก็เหนื่อยแทบแย่เหมือนกัน เพราะผู้คนเบียดเสียดกัน พอหลุดออกมาได้ต้องสูดหายใจให้เต็มปอดอีกครั้ง พักเหนื่อยที่วัดผาลาด พอหายเหนื่อยและกำลังคืนมาแล้วก็ต้องเดินทางต่อ พอขึ้นมาจากวัดผาลาดอีกหน่อย คุณลุงที่ขึ้นดอยด้วยกันนี้ก็บอกว่า แถว ๆ นี้มีทางลัดขึ้นไปยังวัดพระธาตุ โดยจะโผล่ที่โค้งขุนกันฯ แต่ค่ำคืนนี้ไม่มีใครใช้เส้นทางนั้น ซึ่งเป็นเส้นทางเดิมเลย เกรงว่าจะหลง ก็เลยต้องเดินตามทางขึ้นไปพร้อมกับคนอื่น ๆ บางช่วงก็เห็นขบวนจากชาวบ้านอำเภอต่าง ๆ ของเชียงใหม่มาร่วมขบวน พร้อมกับเข้าของที่ตกแต่งอย่างสวยงาม มีตั้งแต่วัยรุ่น ถึงพ่ออุ้ยแม่อุ้ย ที่มุ่งมั่นด้วยศรัทธาแรงกล้า ระหว่างทางก็หยุดพักเหนื่อยเป็นระยะ ๆ พร้อมกับจ้องมอง “ดาวบนดิน” ของเวียงเชียงใหม่จากจุดชมวิวข้างทาง แสงไฟมีขาวสีเหลือง ส่องสลับกันพราวพร่างเหมือนกับดาวบนฟ้าต่างหลบเมฆหมอกที่มาบดบัง มาอยู่บนดินกระนั้น แม้นจะเหนื่อย แต่ก็มองเห็นวัดพระธาตุเรืองรองอยู่ไม่ไกล ก็เร่งสืบท้าวด้วยกำลังใจที่ได้เห็นจุดหมายปลายทาง ซึ่งยังดีกว่าที่ก้มหน้าก้มตาเดินไปโดยที่ไม่เห็นจุดหมายปลายทางเอาเสียเลย โค้งขุนกันชนะชน เป็นโค้งสุดท้ายก่อนขึ้นถึงวัดพระธาตุ เป็นโค้งที่หักศอกและขึ้นเนินพร้อมกัน บางส่วนต่างไต่ตามทางเล็ก ๆ ขึ้นไป แต่ส่วนใหญ่ก็เดินขึ้นตามถนนเพราะเดินสะดวกกว่าแม้นว่าจะเหนื่อยอีกนิดก็ไม่เห็นเป็นไร พอมาถึงถนนหน้าวัดผู้คนที่ขึ้นมาก่อนก็นั่งรอกันเต็มถนน มีโคมไฟแขวนไว้สว่างไสวไปทั่ว ร้านขายอาหารตั้งอยู่ตามข้างทาง มีร้านหนึ่งที่เห็นแล้วอดอิจฉาผู้ไปใช้บริการไม่ได้ นั่นก็คือ ร้านนวดฝ่าเท้า ที่ป้ายเขียนไว้ว่า “1/2 hr. 59 ฿” ซึ่งมีลูกค้าอยู่เต็ม ก็ได้แต่เอายาหม่องมานวดข้อเท้าเอง เหลียวดูเวลาแล้วประมาณ ตี 1 กว่า ๆ เสียง “สูตต์เบิก” หรือ สวดเบิก ดังมาจากวัด เสียงสวดเป็นทำนองต่าง ๆ ฟังไพเราะ เป็นการสวดเบิกองค์พระธาตุ ซึ่งจะเริ่มสวดตั้งแต่เที่ยงคืนกว่า ๆ บันไดขึ้นพระ ธาตุต่างเนืองแน่นด้วยผู้คน ทั้งที่ขึ้นไปและกำลังลงมา ต้องเบียด ต้องค่อย ๆ ก้าวขึ้นบันไดทีละขั้น ๆ เสียงสูตต์เบิกก็ดังกังวานเหมือนจะเรียกให้ขึ้นไปอย่างนั้น บันไดขั้นแล้วขั้นเล่า ค่อย ๆ ก้าว ค่อย ๆ สืบเท้าขึ้นไป จนในที่สุดก็มาถึงบนวัดพระธาตุดอยสุเทพ ที่มีผู้คนเนืองแน่น อยู่รายล้อมรอบวัด บ้างนั่งกันเป็นกลุ่ม บ้างก็เอาเสื่อมาปูนอนเพื่อรอคอยใส่บาตรในตอนเช้า ใกล้ ๆ ก็มีการกวนข้าวทิพย์ เสียงเด็ง(ระฆัง) ดังหง่างเหง่งไม่ขาดช่วง เสียงสูตต์เบิกจบลงแล้ว เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่ได้ไปนั่งฟังใกล้ ๆ กลุ่มทั้งกลุ่มก็พากันขึ้นไปไหว้สาพระธาตุดอยสุเทพข้างบน ผู้คนหลั่งไหลมาเวียนเทียนรอบองค์พระธาตุ เหมือนกระแสน้ำแห่งศรัทธาที่น้อมนำสู่องค์พระธาตุ หรือบางคนอาจมองว่าเหมือนกระแสสีทันดรสมุทท์ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ เรานบไหว้ด้วยสองมือสิบนิ้วแทนดอกไม้ธูปเทียน กล่าวคำปูชาพระธาตุ จากนั้นก็เวียนทักขิณารอบพระธาตุ พร้อมกับนำน้ำสรงที่เตรียมมา สรงองค์พระธาตุไปพร้อม ๆ กัน แล้วก็เข้าไปไหว้พระประธานในวิหารหลวง หลังจากเอมอิ่มกับการไหว้สาปูชาพระธาตุเสร็จสิ้น ต่างก็มารวมกันหยุดพักยั้งเหนื่อยกันก่อน จนพักกันหนำใจแล้วก็ต้องจากลาองค์พระธาตุนี้ไปก่อน จึงต้องฝ่ากระแส’ชน’ ลงบันได้เหมือนกันตอนขาขึ้นอีกครั้ง จวบถึงถนนหน้าวัดก็ทำเอาเหนื่อยอีกรอบ เหนื่อยในที่นี้หมายถึงเหนื่อยใจ เนื่องจากเห็นผู้หญิงบางคนนุ่งเสื้อสายเดี่ยวบ้าง ใส่กางเกงขาสั้นบ้าง... ไม่รู้ว่าจะมาวัดหรือว่าจะมาผับมาเธค คราวขาลงนี้ เดินสบายหน่อย สบายกว่าขาขึ้นมาก ก็เลยกันตามสบาย กับผู้คนอีกกลุ่มใหญ่ที่เดินลงมาด้วยกัน เดินไปคุยกันไปสนุกสนานร่าเริง ด้วยอิ่มบุญกันมาถ้วนหน้า ขบวนแห่ที่สวนทางกันมานี้ก็เป็นอีกชุดหนึ่งที่เห็นตอนขาขึ้น เพราะมีการเปลี่ยนผู้อัญเชิญน้ำสรงพระราชทานและกลุ่มชาวบ้านอำเภอต่าง ๆ มาเปลี่ยนกันรับขบวนเป็นทอด ๆ เพื่อให้ถึงบนวัดพระธาตุเช้าพอดี พอเลยขบวน สองขาเริ่มอ่อนล้าแล้ว จากที่ขึ้นมาก็ 11 – 12 กิโลเมตร(ทางดอย) แล้ว รถแดงทั้งหลายต่างมุ่งหน้าขึ้นดอย นักเดินทางบางคนก็ขึ้นรถแดงกันพรึบพรับ บางคันที่ได้คนเต็มแล้วก็วกรถกลับลงดอย ได้ยินเสียงตะโกนว่า “ห้วยแก้วครับห้วยแก้ว 30 บาท” จากคนที่ลงดอยมาด้วยกันเมื่อครู่ ตอนนี้เหลืออยู่นับจำนวนได้ ซึ่งตั้งปณิธานไว้ว่า จะต้องเดินลงให้ถึงให้ได้ รถแดงคันแล้วคันเล่าที่วิ่งผ่านไป บางคันมีโหน บางคันยังมีเสริมบนหลังคาอีก บางคันรับคนลงไปแล้วก็รีบตีรถกลับขึ้นมาอีกครั้ง ไม่รู้คืนนั้นรถแดง ได้คนละกี่เที่ยวแต่ก็คงรับกันไปเต็ม ๆ เลยทีเดียว สองเท้าเริ่มปวดตึบ ๆ แต่ก็ต้องเดิน ไม่ขึ้นรถแดงเป็นเด็ดขาด เหนื่อยนักก็พักก่อน ไม่ต้องรีบร้อน จนเหลือผู้ที่เดินอยู่ไม่กี่กลุ่ม เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ก็เดินกันลงไป รถแดงก็ยังวิ่งขึ้น วิ่งลงอยู่อย่างนั้น ทำเอาแทบเมาควันรถกันเลยทีเดียว ฟ้าเริ่มสาง แสงเงินเริ่มจับทาทับขอบฟ้าด้านตะวันออกอยู่เรื่อ ๆ พร้อมกับดวงดาวบนดินต่างก็ดับลงทีละดวงสองดวง สองเท้าพาเก้าเดินลงดอย มาถึงหน้าครูบาก็ฟ้าแจ้งแสงใสแล้ว ก็เลยเข้าไปไหว้สาครูบาเสียก่อน หลังจากที่เมื่อคืนคนเยอะมาก ไม่มีโอกาสที่จะเข้าไปไหว้ เอาคุณพระคุณเจ้าปกเกล้าห่มหัว ในเช้าวันวิสาขบูชานี้ จากนั้นก็เดินกลับที่พัก จากการที่เหนื่อยและล้า กอปรกับง่วงงุนเป็นกำลัง พอถึงที่พัก ก็เข้านอน พร้อมกับเสียงพระสวดมนต์ลงวิหารในวันวิสาขบูชาดังมาแว่ว ๆ
พี่ปอยเป๋นคนโพสต์ไว้ที่ฮิห้าของชมรมเจ้า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น