วันเสาร์, พฤษภาคม 02, 2552

ศิลปะการฟ้อน

ศิลปะการฟ้อน
การละเล่นภาคเหนือ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการฟ้อนต่างๆศิลปะการฟ้อน ในภาคเหนือจะมีดนตรีพื้นบ้านประกอบหรือเป็นเพลงที่มีการขับร้องประกอบ
การฟ้อนของภาคเหนือ แต่ก่อนมิได้มุ่งแต่การบันเทิง แต่เกิดจากพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อทางประเพณีในการบูชาผีบรรพบุรุษ เป็นหลัก
การฟ้อนได้วิวัฒนาการไปตามยุค นอกจากนี้ยังมีการเล่น กลองสะบัดชัย การร่ายรำ ตบมะผาบ ฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิงหรือเชิง ซึ่งมักจะมีดนตรีและมีกลองเป็นหลัก
ในการประกอบจัวหวะฟ้อน
ฟ้อนเป็นนาฏศิลป์พื้นเมืองของชาวเหนือ จำแนกการฟ้อนตามลักษณะกิจกรรม คือ ฟ้อนผี ฟ้อนเมือง ฟ้อนแบบไทยใหญ่ และฟ้อนม่าน
1. ฟ้อนผี ฟ้อนที่สืบเนื่องมาจากการนับถือผี ได้แก่ ฟ้อนผีมด ฟ้อนผีเมือง เพื่อเซ่นสังเวยผีบรรพบุรุษ ผีปู่ย่า ผีประจำ ตระกูล จะทำทุกๆ 3 ปี โดยสร้างปะรำตั้งเครื่องสังเวยที่ลานบ้าน ผู้ฟ้อนเป็นผู้หญิงในตระกูล นุ่งโสร่งทับผ้าที่คล้องคอ และโพกศรีษะ ฟ้อนตามจังหวะของดนตรี ซึ่งเป็นดนตรีวงสะล้อซอซึง ฟ้อนผีเจ้านาย
มีลักษณะเหมือนฟ้อนผีมด ฟ้อนผี นายด้ง เป็นการละเล่นกันในงานสงกรานต์ เหมือนเล่นแม่ศรีของภาคกลาง แต่เล่นในเวลากลางคืน โดยให้ผู้หญิง 4-5 คน
จับกระด้งที่ใช้ฝัดข้าว แล้วขับลำนำเพลง เพื่อให้ผีนางด้งมาเข้าฟ้อนรำจนเป็นที่พอใจ
2. ฟ้อนเมือง เป็นลีลาการฟ้อนของคนเมือง ได้แก่ฟ้อนเล็บ เป็นเอกลักษณ์ของภาคเหนือ นิยมฟ้อนนำขบวนแห่ครัวทาน เรียกกันว่า “ฟ้อนเมือง”
“ฟ้อนแห่ครัวทาน” ใช้ผู้ฟ้อนเป็นชุดตั้งแต่ 6 คน 8 คน 12 คน (จนถึง 100-200 คน ก็ได้ เช่น ในงานต้อนรับพระราชอาคันตุกะ)
การแต่งกายจะสวมเสื้อแขนกระบอก ผ่าอกติดกระดุม ห่มผ้าสไบทับเสื้อ นุ่งผ้าซิ่นลายขวาง ป้ายข้างยาวกรอมเท้า ไม่สวมรองเท้า สวมเล็บทำด้วยโลหะทองเหลือง ลักษณะปลายเรียวแหลมยาวประมาร 3 นิ้ว ผมทรงเกล้ามวยใช้ดอกเอื้องประดับมวย เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบคือ วงกลองตึ่งนง
ซึ่งประกอบด้วยกลองตึ่งนง (กลองแอว) กลองตะโล้ดโป๊ด แนหลวง แนน้อย ฆ้องโหม่ง ฆ้องหุ่ย และสว่า (ฉาบ) ฟ้อนเทียน มีท่วงท่าลีลาการฟ้อน
การแต่งกาย และเครื่องดนตรี เหมือนกับฟ้อนเล็บทุกประการ เพียงแต่เปลี่ยนจากการสวมเล็บมาถือเทียนแทน เป็นการฟ้อนที่จัดร่วมนำขบวนแห่ขันโตก เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ฟ้อนเชิญขันโตก” ความงดงามของการฟ้อนเล็บและฟ้อนเทียนจะอยู่ที่ลีลาการบิดข้อมือ และการเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ นุ่มนวลสอดคล้องกับทำนองเพลง ฟ้อนอย่ามีระเบียบและพร้อมเพรียงกันฟ้อนสาวไหม ท่าฟ้อนสาวไหมแต่ดั้งเดิมเป็นท่าแม่บทท่าหนึ่งในการฟ้อนเจิง ช่างฟ้อนเป็นหญิงแต่งกายพื้นบ้านแบบเดียวกับฟ้อนเล็บ ท่าฟ้อนมีลีลาอ่อนช้อยมาก เป็นท่าฟ้อนที่เลียนแบบกิริยาอาการสาวไหม เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบคือ วงสะล้อ-ซึง บรรเลงทำนองเพลงแบบ
“ซอปั่นฝ้าย”
3. ฟ้อนแบบไทยใหญ่ มีศิลปะการฟ้อนของชาวไทยในภาคเหนือปรากฎอยู่เป็นเอกลักษณ์ ฟ้อนเงี้ยว เป็นที่รู้จักกันในภาคเหนือปัจจุบัน เป็นการประดิษฐ์ท่ารำโดยช่างฟ้อนในวังของ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ซึ่งเลียนแบบท่วงท่าของการฟ้อนแบบชาวไทยใหญ่ผสมกับลีลานาฏศิลป์ภาคกลาง จึงเกิดเป็นการฟ้อนชนิดนี้ขึ้น
4. ฟ้อนแบบม่าน คำว่าม่าน ในภาษล้านนาหมายถึง พม่า ด้วยเหตุที่บริเวณภาคเหนืออยู่ติดกับประเทศพม่า จึงมีการรับอิทธิพลทางด้านศิลปกรรมต่างๆของพม่าหลายด้าน สำหรับด้านนาฏศิลป์ ฟ้อนม่านมุยเชียงตา เป็นฟ้อนที่พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ทรงริเริ่มขึ้น โดยมีช่างฟ้อนในคุ้มและในวังร่วมกับครูช่างฟ้อนของพม่า ช่างฟ้อนเป็นหญิง 8-16 คน แต่งกายแบบพม่า สวมเสื้อเอวลอย รัดรูป นุ่งซิ่น มีผ้าสไบคล้องคอ เกล้าผมสูงปล่อยชายผมลงด้านหนึ่ง ท่วงท่าฟ้อนรำมีทั้งช้าและเร็ว ใช้วงปี่พาทย์บรรเลงประกอบทำนองเพลง ปัจจุบันการฟ้อนได้วิวัฒนาการไปสู่ภาคอื่นๆ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตอนล่าง โดยการคิดท่าฟ้อนประกอบสัญลักษณ์การทำงาน หรือจัดเป็นชุดรำในนิทานพื้นบ้าน เช่น ฟ้อนเก็บขิด ฟ้อนมโนห์ราเล่นน้ำของวิทยาลัยนาฏศิลป์ จังหวัดร้อยเอ็ด ฟ้อนลื้อล่องน่านของจังหวัดน่าน เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น